วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ที่มาของโครงการ

ปัญหาขยะ น้ำเสียและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดนโยบายการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครสีเขียว หรือเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green City) ซึ่งตระหนักถึงระบบนิเวศ ลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากร ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ตามคำเชิญชวนที่ว่า “รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ” โดยหวังว่าประชาชนทุกภาคส่วนนำแนวคิดวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน มีค่านิยมรักษ์สิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะส่งผลให้ทุกภาคส่วนเป็นองค์กรสีเขียว (Green) อันจะนำมาซึ่งผลสำเร็จในการสร้างกรุงเทพฯให้เป็นมหานครสีเขียว (Green City) ได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม ตามโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการจัดการมูลฝอยโดยชุมชน (CBM) มีชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการร่วมกันจัดการขยะในชุมชน จำนวน 314 ชุมชน โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อ-ชุมชนยิ้มสดใส มีการศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับประเภทชุมชน ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ แฟลตและคอนโดมีเนียม หมู่บ้านจัดสรร ชุมชนเมือง ชุมชนชานเมือง และชุมชนแออัด โดยมีชุมชนต้นแบบ จำนวน 112 ชุมชน โครงการทรัพย์ทวีบุญทวีรีไซเคิลดำเนินการในสถานศึกษาเพื่อสร้างความตระหนัก และกระตุ้นให้เยาวชนเกิดการคัดแยกขยะและรักษ์สิ่งแวดล้อม จำนวน 80 โรงเรียน โครงการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนด้วยชุมชน ภายใต้แนวคิดชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Bangkok Green Community) ซึ่งดำเนินการต่อยอดของโครงการจัดการมูลฝอยโดยชุมชน และโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนยิ้มสดใส โดยพัฒนาเป็นระดับย่านคลองมีคลองเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง ทุกภาคส่วนที่อยู่อาศัย หรือประกอบอาชีพทั้งสองฝั่งคลอง ประกอบด้วย บ้านหรือชุมชน วัด หรือศาสนสถาน และโรงเรียน ตามแนวคิด “บวร” บวกกับสถานประกอบการ  ให้มีส่วนร่วมจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม โดยคัดแยกขยะนำกลับไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้มากที่สุด ลดการทิ้งขยะลงคูคลอง ติดตั้งถังดักไขมันประจำ-บ้าน สถานประกอบการขนาดใหญ่ หรือหมู่บ้านจัดสรรเดินระบบบำบัดน้ำเสียรวม ช่วยให้น้ำในคลอง  มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับคลองได้อย่างมีความสุข สามารถใช้ประโยชน์จากคลอง เช่นการขนส่ง การท่องเที่ยว การค้าขาย หรือการเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยดำเนิน

การในพื้นที่นำร่อง 6 ย่านคลอง 7 สำนักงานเขต ซึ่งผลการดำเนินการประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลรักษาความสะอาดของสองฝั่งคลอง ให้สะอาด น้ำในคลองใสสะอาด มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดแหล่งพาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ ยุง ฯลฯ ความร่วมมือของชาวชุมชนในการบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้

เพื่อเป็นชุมชนที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ดังนั้น ต้องดำรงความยั่งยืนในการพัฒนา และส่งเสริมกระบวนการจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อมตามโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการแล้ว ตลอดจนขยายผลในย่านคลองใหม่และกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ  สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้กำหนดให้ศึกษา พัฒนากระบวนการจัดการขยะ น้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม กระตุ้นการสร้างความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ทั้งในกลุ่มเป้าหมายเดิม และขยายผลในย่านคลองและกลุ่มเป้าหมายใหม่ ตลอดจนถอดบทเรียนความสำเร็จใช้เป็นคู่มือชุมชน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย เป็นมหานครสีเขียว เป็นมหานครที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป